Month: เมษายน 2022

มีชีวิตอย่างแท้จริง

เนื่องจากเป็นสัปดาห์หลังวันอีสเตอร์ ไวแอตต์ลูกชายวัยห้าขวบของเราจึงได้ยินบทสนทนาเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์บ่อยมาก เขามักมีคำถาม ซึ่งส่วนใหญ่ทำให้เราถึงกับนิ่งอึ้ง ผมกำลังขับรถส่วนเขานั่งคาดเข็มขัดอยู่ด้านหลัง ไวแอตต์มองออกไปนอกหน้าต่าง สีหน้าครุ่นคิด “พ่อ” เขาพูดแล้วหยุดเพื่อเตรียมถามคำถามยากๆ “ตอนที่พระเยซูให้เรามีชีวิตขึ้นมาอีก เราจะมีชีวิตจริงๆ หรือแค่คิดเอาเองว่าเรามีชีวิต”

นี่เป็นคำถามที่เราหลายคนสงสัย ไม่ว่าเราจะกล้าถามออกมาดังๆหรือไม่ก็ตาม พระเจ้าจะทรงรักษาเราจริงหรือ พระองค์จะให้เราเป็นขึ้นจากความตายจริงหรือ พระองค์จะรักษาทุกคำสัญญาจริงหรือ

อัครทูตยอห์นบรรยายอนาคตที่แน่นอนของเราว่าเป็น “ท้องฟ้า​ใหม่​และ​แผ่นดิน​โลก​ใหม่” (วว.21:1) ในนครบริสุทธิ์นั้น “พระ​เจ้า​เอง​จะ​ประทับ​อยู่​กับ[เรา] และ​จะ​ทรง​เป็น​พระ​เจ้า [ของเรา]” (ข้อ 3) เพราะชัยชนะของพระเยซู เราจึงมีพระสัญญาถึงอนาคตที่ไม่มีน้ำตาอีกต่อไป ไม่มีสิ่งชั่วร้ายที่ต่อต้านพระเจ้าและคนของพระองค์ ในอนาคตอันดีนี้ “ความ​ตาย​จะ​ไม่​มี​อีก​ต่อไป การ​คร่ำ​ครวญ การ​ร้องไห้ และ​การ​เจ็บปวด​จะ​ไม่​มี​อีก​ต่อไป เพราะ​ยุค​เดิม​นั้น​ได้​ผ่าน​พ้น​ไป​แล้ว” (ข้อ 4)

หรือพูดได้ว่า ในอนาคตที่พระเจ้าทรงสัญญากับเรา เราจะมีชีวิตอย่างแท้จริง เราจะมีชีวิตอย่างสมบูรณ์จนชีวิตในปัจจุบันนี้เป็นเหมือนกับเงาที่เลือนราง

ความรักนั้นคุ้มค่าที่จะเสี่ยง

หลังจากเพื่อนคนหนึ่งตัดขาดมิตรภาพอันยาวนานนับสิบปีโดยไม่บอกเหตุผล ฉันก็เริ่มถอยกลับไปทำนิสัยเดิมคือรักษาระยะห่างกับผู้คน ขณะที่กำลังจัดการกับความเศร้า ฉันดึงหนังสือเก่าชื่อ ความรักสี่ประเภท ของซี. เอส. ลูอิสออกมาจากชั้นวาง ลูอิสตั้งข้อสังเกตที่ทรงพลังถึงความรักที่ต้องมีความอ่อนแอ ท่านกล่าวว่า “ไม่มีการลงทุนที่ปลอดภัย” เมื่อคนๆหนึ่งเสี่ยงที่จะรัก การรัก “อะไรก็ตามจะนำไปสู่หัวใจที่ถูกบีบคั้นหรือแม้กระทั่งแตกสลาย” การได้อ่านข้อความเหล่านี้ทำให้ฉันเปลี่ยนมุมมองในการอ่านเรื่องการปรากฏตัวครั้งที่สามของพระเยซูกับสาวกหลังทรงคืนพระชนม์ (ยน.21:1-14) หลังจากเปโตรทรยศพระองค์ไม่เพียงครั้งเดียวแต่ถึงสามครั้ง (18:15-27)

พระเยซูตรัสว่า “ซีโมน​บุตร​ยอห์น​เอ๋ย เจ้า​รัก​เรา​มากกว่า​เหล่า​นี้​หรือ” (21:15)

หลังจากทรงเจ็บปวดกับการถูกหักหลังและถูกปฏิเสธ พระเยซูตรัสกับเปโตรด้วยความกล้าหาญไม่ใช่ความกลัว ด้วยความเข้มแข็งไม่ใช่อ่อนแอ ด้วยความไม่เห็นแก่ตัวไม่ใช่ความสิ้นหวัง พระองค์สำแดงพระเมตตาไม่ใช่ความเกรี้ยวกราด ด้วยการยืนยันถึงความเต็มพระทัยที่จะรัก

พระคัมภีร์บอกว่า “เปโตรก็​เป็น​ทุกข์​ใจ​ที่​พระ​องค์​ตรัส​ถาม​เขา​ครั้ง​ที่​สาม​ว่า ‘เจ้า​รัก​เรา​หรือ’” (ข้อ 17) แต่เมื่อพระเยซูขอให้เปโตรพิสูจน์ความรักของท่านด้วยการรักผู้อื่น (ข้อ 15-17) และติดตามพระองค์ (ข้อ 19) พระองค์ก็ทรงเชื้อเชิญสาวกทุกคนให้เสี่ยงที่จะรักโดยไม่มีเงื่อนไข เราทุกคนจะต้องตอบเมื่อพระเยซูตรัสถามว่า “เจ้ารักเราหรือ” คำตอบของเราจะส่งผลต่อความรักที่เรามีต่อผู้อื่น

เข้ามานมัสการ

เมื่อพวกเขาร้องเพลงสรรเสริญด้วยกันในการนมัสการที่รวมคนทุกรุ่นทุกวัย หลายคนสัมผัสถึงความยินดีและสันติสุข แต่ไม่ใช่สำหรับคุณแม่หัวฟูคนหนึ่ง เธอเขย่าลูกน้อยที่กำลังจะร้องไห้พร้อมถือหนังสือเพลงให้ลูกวัยห้าขวบขณะพยายามกันไม่ให้ลูกวัยเตาะแตะเดินหนีไป ต่อมาสุภาพบุรุษสูงวัยที่นั่งอยู่ข้างหลังอาสาพาลูกของเธอไปเดินเล่นรอบโบสถ์ และหญิงสาวอีกคนส่งสัญญาณว่าจะช่วยถือหนังสือเพลงให้ลูกคนโต ภายในสองนาที ประสบการณ์ของผู้เป็นแม่ก็เปลี่ยนไปและเธอสามารถสูดลมหายใจ หลับตาลงและนมัสการพระเจ้าได้

พระเจ้าทรงมุ่งหมายเสมอมาให้ทุกคนนมัสการพระองค์ ทั้งชายและหญิง เด็กและคนชรา ผู้เชื่อเก่าและผู้เชื่อใหม่ ขณะที่โมเสสอวยพรอิสราเอลเผ่าต่างๆก่อนเข้าดินแดนแห่งพระสัญญา ท่านหนุนใจให้ทุกคนมารวมตัวกัน “​ทั้ง​ชาย หญิง และ​เด็ก ทั้ง​คน​ต่างด้าว​ใน​เมือง​ของ​ท่าน​” เพื่อพวกเขาจะ “​ได้​ยิน​และ​เรียนรู้​ที่​จะ​ยำเกรง​พระ​เยโฮวาห์​พระ​เจ้า​ของ​ท่าน” และทำตามพระบัญญัติของพระองค์ (ฉธบ.31:12) เราถวายเกียรติแด่พระเจ้าเมื่อเราทำให้คนของพระองค์นมัสการพระองค์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงใดของชีวิต

เช้าวันนั้นในคริสตจักร ผู้เป็นแม่ สุภาพบุรุษสูงวัยและหญิงสาวต่างได้รับประสบการณ์ความรักของพระเจ้าผ่านการให้และการรับ บางทีครั้งต่อไปที่คุณอยู่ในคริสตจักร คุณเองก็อาจหยิบยื่นความรักของพระเจ้าผ่านการอาสาให้ความช่วยเหลือ หรือคุณอาจเป็นผู้ที่รับความช่วยเหลือที่มาโดยพระคุณนั้น

พยานในที่ทำงาน

“เธอยังโกรธที่ฉันอยากลดขนาดของแผนกที่เธอโปรดอยู่หรือ” ผู้จัดการถามอีฟลิน “เปล่าค่ะ” เธอกัดกรามแน่น เธอโกรธมากกว่าที่เจ้านายดูจะล้อเลียนเธอเรื่องนั้น เธอพยายามจะช่วยบริษัทด้วยการหาทางดึงกลุ่มผู้สนใจหลายๆกลุ่มเข้ามา แต่พื้นที่อันจำกัดทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ อีฟลินกลั้นน้ำตา เธอตัดสินใจแล้วว่าจะทำตามผู้จัดการทุกอย่าง เธออาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เธอหวังไว้ไม่ได้ แต่เธอยังสามารถทำงานของเธออย่างสุดความสามารถได้

ในจดหมายฉบับแรกของอัครทูตเปโตร ท่านเรียกร้องให้ผู้เชื่อพระเยซูยุคแรกจำนนต่อ “​การ​บังคับ​บัญชา​ที่​มนุษย์​ตั้ง​ไว้​ทุก​อย่าง” (1 ปต.2:13) การคงความสัตย์ซื่อในงานที่ยากไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เปโตรให้เหตุผลที่เราควรทำดีต่อไปว่า “จง​รักษา​ความ​ประพฤติ​อัน​ดี​ของ​ท่าน​ไว้​ใน​หมู่​คน​ต่างชาติ เพื่อ​ว่า​เมื่อ​มี​คน​ติ​เตียน​ท่าน​ว่า​ประพฤติ​ชั่ว เขา​จะ​ได้​เห็น​การ​ดี​ของ​ท่าน และ​เขา​จะ​ได้​สรรเสริญ​พระ​เจ้า” (1 ปต.2:12) นอกจากนั้นสิ่งนี้ยังช่วยให้เราเป็นตัวอย่างตามแบบพระเจ้าแก่ผู้เชื่อคนอื่นที่กำลังมองดูอยู่ด้วย

หากเราอยู่ภายใต้สภาพงานที่กดขี่บีบคั้น การออกจากงานอาจเป็นทางที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (1 คร.7:21) แต่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ด้วยการช่วยเหลือของพระวิญญาณเรายังสามารถทำความดีในงานของเราได้โดยระลึกว่าสิ่งนี้ “เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า” (1 ปต.2:20) เมื่อเรายอมรับฟังผู้มีอำนาจ เราก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้อื่นมีเหตุผลที่จะติดตามและถวายเกียรติแด่พระเจ้า

เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

ยาโลสลาฟ เพลิแกนอาจารย์มหาวิทยาลัยเยลนับว่าเป็น “ผู้มีอิทธิพลอย่างสูงด้านประวัติศาสตร์คริสเตียนในยุคสมัยของเขา” ท่านมีชื่อเสียงจากงานด้านวิชาการอันแพร่หลาย ตีพิมพ์หนังสือมากกว่า 30 เล่ม และได้รับรางวัลคลูกี้อันทรงเกียรติจากชีวิตที่อุทิศให้งานเขียนจำนวนมาก นักเรียนของท่านคนหนึ่งกล่าวถึงถ้อยคำซึ่งเขาคิดว่าเป็นถ้อยคำสำคัญที่สุดของอาจารย์ที่กล่าวไว้ก่อนเสียชีวิตว่า “ถ้าพระคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากตาย อะไรอย่างอื่นก็ไม่สำคัญ และถ้าพระคริสต์ไม่ได้ทรงเป็นขึ้นจากความตาย ก็ไม่มีอะไรอีกแล้วที่สำคัญ”

เพลิแกนกล่าวเช่นเดียวกับที่เปาโลกล่าวว่า “ถ้า​พระ​คริสต์​มิได้​ทรง​ถูก​ชุบ​ให้​เป็น​ขึ้น​มา การ​เทศนา​ของ​เรา​นั้น​ก็​ไม่​มี​หลัก ทั้ง​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ก็​ไม่​มี​หลัก​ด้วย​” (1 คร.15:14) เปาโลกล่าวได้อย่างอาจหาญเช่นนี้เพราะท่านรู้ว่าการคืนพระชนม์ไม่ใช่เป็นแค่หนึ่งในการอัศจรรย์ แต่เป็นหัวใจของพันธกิจการทรงไถ่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ พระสัญญาเรื่องการคืนพระชนม์ไม่ใช่เพียงการยืนยันว่าพระคริสต์จะเป็นขึ้นจากความตาย แต่เป็นการรับรองว่าสิ่งที่ต้องตายและแตกสลายอื่นๆ (ชีวิต สังคม ความสัมพันธ์) วันหนึ่งจะถูกทำให้มีชีวิตอีกครั้งผ่านทางพระคริสต์ แต่หากไม่มีการคืนพระชนม์ เปาโลก็รู้ว่าเราเจอปัญหาใหญ่แน่ ถ้าไม่มีการคืนพระชนม์ ความตายและการทำลายล้างก็ได้รับชัยชนะ

แน่นอนว่า “​พระ​คริสต์​ทรง​ถูก​ชุบ​ให้​เป็น​ขึ้น​มา​จาก​ความ​ตาย​แล้ว” (ข้อ 20) ความตายพ่ายแพ้เพราะถูกทำลายโดยองค์ผู้มีชัย พระเยซูทรงเป็น “ผลแรก” ของชีวิตอื่นๆที่จะตามมา พระองค์มีชัยชนะเหนือความชั่วร้ายและความตายเพื่อให้เรามีชีวิตอย่างกล้าหาญและอิสระ ​การคืนพระชนม์นี้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

ไม่เป็นเช่นนั้น

“ผมอยากทำให้มันไม่เป็นเช่นนั้น” ชายหนุ่มอาลัยเมื่อรำลึกถึงเพื่อนที่จากไปเมื่ออายุยังน้อย ถ้อยคำของเขาสะท้อนถึงความรวดร้าวใจของมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัย ความตายทำให้เราตะลึงงันและสร้างบาดแผลให้กับเรา เราปรารถนาจะเปลี่ยนสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้

ความปรารถนาที่จะ “ทำให้มันไม่เป็นเช่นนั้น” อาจเป็นความรู้สึกของผู้ติดตามพระเยซูหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ พระกิตติคุณบอกเล่าเรื่องราวในชั่วโมงอันเลวร้ายนั้นไม่มากนัก แต่ได้บันทึกถึงเรื่องราวของเพื่อนผู้สัตย์ซื่อบางคน

โยเซฟผู้นำทางศาสนาที่เชื่อพระเยซูอย่างลับๆ (ดู ยน.19:38) อยู่ดีๆก็กล้าขอพระศพของพระเยซูจากปีลาต (ลก.23:52) ลองใคร่ครวญดูว่าการย้ายพระศพลงจากการตรึงกางเขนอันน่าสยดสยองและเตรียมสำหรับฝังอย่างระมัดระวังต้องทำอย่างไรบ้าง (ข้อ 53) พิจารณาดูด้วยเช่นกันถึงความศรัทธาและกล้าหาญของพวกผู้หญิงที่อยู่กับพระเยซูไปตลอดทางในทุกย่างก้าวจนถึงอุโมงค์ (ข้อ 55)

ผู้เชื่อเหล่านี้ไม่ได้คาดว่าพระเยซูจะทรงคืนพระชนม์ พวกเขาทำใจด้วยความโศกเศร้า บทนี้จบลงอย่างไม่มีหวังและมืดมน “แล้ว​เขา​ก็​กลับไป​จัดแจง​เครื่อง​หอม​กับ​น้ำ​มัน​หอม ใน​วันสะบาโต​นั้น​เขา​ก็​หยุด​การ​ไว้​ตาม​พระ​บัญญัติ” (ข้อ 56)

พวกเขาไม่รู้ว่าการหยุดพักในวันสะบาโตนั้นได้ถูกกำหนดไว้สำหรับฉากที่อัศจรรย์ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ พระเยซูกำลังจะทำสิ่งที่เกินกว่าเราจะคาดคิดได้ พระองค์จะทำให้ความตาย “ไม่เป็นเช่นนั้น”

กางเขนแห่งสันติสุขของพระองค์

ดวงตาที่เศร้าหมองมองออกมาจากภาพวาด ซีโมนชาวไซรีน ของศิลปินร่วมสมัยชาวดัทช์ เอ็กเบิร์ต มอดเดอร์แมน ดวงตาของซีโมนเผยให้เห็นถึงภาระอันหนักหน่วงทั้งร่างกายและจิตใจที่เขาต้องรับผิดชอบ ในมาระโก 15 เรารู้ว่าซีโมนถูกเกณฑ์จากฝูงชนที่มุงดูอยู่ และถูกบังคับให้แบกกางเขนของพระเยซู

พระธรรมมาระโกบอกเราว่าซีโมนมาจากไซรีน ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ในแอฟริกาเหนือที่มีชาวยิวจำนวนมากอาศัยอยู่ในสมัยของพระเยซู เป็นไปได้อย่างมากว่าซีโมนเดินทางมาเยรูซาเล็มเพื่อฉลองเทศกาลปัสกา ที่นั่นเขาพบตัวเองอยู่ท่ามกลางการประหารชีวิตที่ไม่ยุติธรรม แต่เขาสามารถทำสิ่งเล็กๆที่มีความหมายในการช่วยเหลือพระเยซู (มก.15:21)

ก่อนหน้านี้ในพระกิตติคุณมาระโก พระเยซูทรงบอกกับผู้ที่ติดตามพระองค์ว่า “ถ้าผู้ใดใคร่จะตามเรามา ให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง และรับกางเขนของตนแบก และตามเรามา” (8:34) บนถนนสู่โกละโกธา ซีโมนได้ทำสิ่งที่พระเยซูทรงเปรียบเปรยให้เหล่าสาวกทำออกมาเป็นรูปธรรม นั่นคือเขาได้รับเอากางเขนที่ถูกมอบหมายให้และแบกเพื่อพระเยซู

พวกเรามี “กางเขน” ที่จะต้องแบกเช่นเดียวกัน บางทีอาจเป็นความเจ็บป่วย พันธกิจที่ท้าทาย การสูญเสียคนที่รัก หรือการถูกข่มเหงเพราะความเชื่อของเรา ขณะที่เราแบกความยากลำบากเหล่านี้ด้วยความเชื่อ เราก็กำลังชี้ให้ผู้คนเห็นความทุกข์ทรมานของพระเยซูและการเสียสละของพระองค์บนไม้กางเขน ไม้กางเขนของพระองค์ได้มอบสันติสุขในพระเจ้า และให้กำลังแก่เราที่จะเดินไปบนเส้นทางแห่งชีวิต

“ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน”

นวนิยายเรื่องคืนดับที่เขียนโดย อิไล วีเซล ได้ตีแผ่เรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวทั้งหมดของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากประสบการณ์ของเขาเองในค่ายมรณะของนาซี เรื่องราวของวีเซลพลิกเรื่องราวการอพยพในพระคัมภีร์กลับด้าน ขณะที่โมเสสและชนชาติอิสราเอลรอดพ้นจากการเป็นทาสในเทศกาลปัสกาครั้งแรก (อพย.12) วีเซลเล่าว่านาซีได้จับกุมผู้นำชาวยิวหลังจากเทศกาลปัสกา

เพื่อไม่ให้เราวิจารณ์วีเซลและคำเย้ยหยันอันมืดมนของเขา ลองพิจารณาดูว่าพระคัมภีร์ก็มีเรื่องพลิกกลับด้านที่คล้ายคลึงกัน ในคืนฉลองเทศกาลปัสกา พระเยซูผู้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้ปลดปล่อยชนชาติของพระเจ้าให้เป็นอิสระจากความยากลำบาก กลับทรงยอมถูกจับโดยคนที่จะฆ่าพระองค์

ยอห์นนำเราเข้าสู่ฉากศักดิ์สิทธิ์ก่อนพระเยซูจะถูกจับกุม “ทรงเป็นทุกข์ในพระทัย” ถึงสิ่งที่รอคอยพระองค์อยู่ ในระหว่างอาหารมื้อสุดท้าย พระเยซูทรงทำนายถึงการถูกทรยศ (ยน.13:21) จากนั้นทรงทำสิ่งที่พวกเรายากจะเข้าใจ พระคริสต์ทรงยื่นขนมปังให้ผู้ที่ทรยศ พระคัมภีร์บันทึกว่า “เมื่อยูดาสรับอาหารชิ้นนั้นแล้วเขาก็ออกไปทันที ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน” (ข้อ 30) ความอยุติธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ได้เริ่มขึ้น แต่พระเยซูกลับประกาศว่า “บัดนี้บุตรมนุษย์ได้รับเกียรติแล้ว และพระเจ้าทรงได้รับเกียรติเพราะบุตรมนุษย์” (ข้อ 31) ภายในไม่กี่ชั่วโมงเหล่าสาวกได้พบกับความหวาดกลัว ความพ่ายแพ้และความเศร้าสลด แต่พระเยซูทรงเห็นแผนการของพระเจ้าดำเนินไปตามที่ควรจะเป็น

เมื่อดูเหมือนว่าความมืดกำลังจะชนะ เราระลึกได้ว่าพระเจ้าทรงเผชิญกับค่ำคืนอันมืดมนของพระองค์และทรงมีชัยชนะ พระองค์ทรงเดินเคียงข้างเรา มันจะไม่เป็นกลางคืนตลอดไป

อุ้มชูด้วยความรัก

หลานชายวัยสี่ขวบนั่งอยู่บนตักและลูบศีรษะที่ล้านของผม เขาพยายามทำความเข้าใจอย่างตั้งใจ “คุณปู่ เกิดอะไรขึ้นกับผมของคุณปู่ครับ” เขาถาม “โอ้” ผมหัวเราะ “มันร่วงไปตามกาลเวลา” สีหน้าของเขาเปลี่ยนเป็นครุ่นคิด “แย่จัง” เขาตอบ “ผมจะแบ่งผมของผมให้กับคุณปู่นะครับ”

ผมยิ้มให้กับความรักของเขาและดึงตัวเขาเข้ามากอด ต่อมาเมื่อผมคิดย้อนไปถึงความรักที่เขามอบให้ในช่วงเวลาที่น่าจดจำนั้น มันทำให้ผมคิดถึงความรักที่ยิ่งใหญ่และไม่เห็นแก่ตัวของพระเจ้า

จี. เค. เชสเตอร์ตันเขียนไว้ว่า “พวกเราได้ทำบาปและแก่ตัวลง และพระบิดาของเราทรงอ่อนเยาว์กว่าพวกเรา” สิ่งที่เขาเขียนหมายความว่า “องค์ผู้ดำรงอยู่ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์” (ดนล.7:9 TNCV) นั้นทรงไร้มลทินจากความเสื่อมทรามของความบาป พระเจ้าทรงเป็นอยู่นิรันดร์ และทรงรักเรามากด้วยความรักที่ไม่เคยเสื่อมคลายหรือจืดจางลง พระองค์ทรงเต็มพระทัยและทรงสามารถที่จะทำให้พระสัญญาที่มีต่อประชากรของพระองค์สำเร็จได้ ในอิสยาห์ 46 กล่าวว่า “จนกระทั่งเจ้าแก่ เราก็คือพระองค์นั้น เราจะอุ้มเจ้าจนเจ้าถึงผมหงอก เราได้สร้าง เราจะชูไว้ เราจะอุ้มและเราจะช่วยให้รอด” (ข้อ 4)

ในห้าข้อถัดมาพระองค์ทรงอธิบายว่า “เราเป็นพระเจ้า และไม่มีอื่นใดเหมือนเรา” (ข้อ 9) พระเจ้าผู้ทรงพระนามว่า “เราเป็น” (อพย.3:14) ทรงรักเราอย่างลึกซึ้งจนกระทั่งยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อแบกรับโทษบาปทั้งหมดของเรา เพื่อที่เราจะสามารถกลับมาหาพระองค์และได้รับการปลดปล่อย และนมัสการพระองค์ด้วยใจขอบพระคุณตลอดไป!

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา